ทักษะ ภาษาอังกฤษ เบื้องต้น

การเรียนวิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น นักศึกษาต้องใช้ความมานะพยายาม และความอดทน หลักการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษให้ได้ผลนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะความสำเร็จในการเรียนวิชาภาษา ซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น อาศัยทั้งความเข้าใจและการฝึกฝนทบทวนบ่อย ๆ อยากทราบว่าตนเองยังมีพื้นฐานภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย ก็ควรที่จะเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น

ทักษะการฟัง มีพฤติกรรมการฟังอยู่ 5 ระดับ คือ

1. ขั้นรับรู้

ฝึกสังเกตความแตกต่างของภาษาเกี่ยวกับเสียง คำ การเน้น และระดับเสียงขึ้น-ลงของข้อความ

2. ขั้นระลึก

สามารถที่จะเข้าใจความหมายของข้อความสั้น ๆ ที่ได้ยิน

3. ขั้นรับความคิด

สามารถที่จะเข้าใจสัญลักษณ์ทางไวยากรณ์ คำศัพท์ ประโยคและบทความสั้น ๆ

4. ขั้นเข้าใจ

สามารถเข้าใจคำอธิบาย รู้จักจับความของข้อความที่ได้ยิน แม้ว่าจะมีคำที่ไม่รู้ความหมายอยู่ด้วยก็ตามสามารถฟัง และเข้าใจข้อความที่ผู้พูดพูดออกมาอย่างรวดเร็วได้

5. ขั้นวิเคราะห์

สามารถแยกแยะได้ว่าข้อความที่ได้ยินว่า เป็นภาษามาตรฐานหรือไม่ รูปประโยคถูกต้องหรือไม่ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความมุ่งหมายของผู้พูดจากน้ำเสียง และถ้อยคำที่เน้น สามารถประเมินได้ว่าถ้อยคำที่เน้นนั้นสื่อสารความคิดได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

ในปัจจุบัน มีสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยนักศึกษาพัฒนาทักษะการฟังอยู่มากมาย เช่น รายการโทรทัศน์ประเภทสารคดีภาษาอังกฤษ จะมีบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ บางรายการอาจมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย รายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์ หรือเพลง ก็ช่วยได้มาก ถ้านักศึกษาให้ความสนใจและใส่ใจอย่างจริงจัง

ทักษะการพูด
เป็นพฤติกรรมทางด้านการแสดงออก เนื่องจากคนไทยมิใช่ชนชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ทักษะการพูดภาษาอังกฤษจึงอาจเป็นทักษะที่ดูเหมือนค่อนข้างจะยาก ในด้านของการออกเสียงหรือสำเนียงให้ถูกต้อง แต่หากผู้เรียนมีความพากเพียรพยายามหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ก็อาจสามารถทำได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าจะออกเสียงผิดเพี้ยนไปบ้าง ผู้เรียนก็ควรให้ความสำคัญต่อการพยายามสื่อสารให้ได้ความหมายมากที่สุด องค์ประกอบสำคัญ นอกจากเสียงหรือสำเนียงแล้ว ได้แก่ ศัพท์ ไวยากรณ์ ระเบียบวิธีของความสัมพันธ์ระหว่างประโยค ตลอดจนการใช้กริยา ท่าทาง ประกอบในการสื่อสาร

นักศึกษาสามารถที่จะทดลองฝึกพูดตามเทปเสียง ประจำชุดวิชา หรือทดลองอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และให้ผู้ใกล้ชิดที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร ฟัง และวิจารณ์ปัญหาสำคัญโดยทั่วไปของคนไทยที่ด้อยทักษะทางการพูดมักเนื่องมาจากการขาดโอกาสที่จะพูดภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

ทักษะการอ่าน
ในเอกสารการสอนของนักศึกษา จะให้แนวทางของการเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านไว้ค่อนข้างมาก จึงขอเน้นในประเด็นต่อไปนี้
ประสิทธิภาพในการอ่านจะดีขึ้นเมื่อ
1. มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มากขึ้น มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำ มีความชำนาญในการใช้คำต่าง ๆ เช่น คำนาม กริยาเปลี่ยนรูป วิเศษณ์ บุพบท ฯลฯ
2. มีความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของประโยค และไวยากรณ์ อย่างถูกต้อง
3. มีความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านอย่างชัดเจน สามารถเข้าใจโครงสร้างของบทความ รู้ตำแหน่งสำคัญของประโยคต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องราว ซึ่งได้มาจากการเข้าใจความหมายตามตัวอักษร และความสามารถที่จะติดตามเรื่องที่อ่านอย่างมีลำดับ สามารถที่จะเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ของข้อความที่อ่าน

ทักษะการอ่านนี้คงต้องเริ่มจากการอ่านหนังสือที่มีรูปประโยคง่าย ๆ และศัพท์ ง่าย ๆ ก่อน เมื่อเข้าใจดีขึ้นก็เพิ่มความยากของศัพท์ให้มากขึ้น และประโยคที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น หากนักศึกษาไม่แน่ใจในทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง นักศึกษาอาจนำหนังสือประกอบการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษามาทดสอบการอ่านดู หากสามารถอ่านผ่านมาได้ ตอบคำถามต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ทักษะพื้นฐานของนักศึกษาก็ควรจะอยู่ในระดับที่สามารถจะศึกษาชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานได้ เพราะชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานเป็นชุดวิชาภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ที่มีเนื้อหาในลำดับที่สูงขึ้นจากภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษานั้นเอง

ทักษะการเขียน

ทักษะการเขียน เป็นทักษะที่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดหลายขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวมความคิด การลำดับเรื่อง และเลือกสรรถ้อยคำในการถ่ายทอดออกมาเป็นข้อความที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงความต้องการ

ทักษะการเขียนจะต้องอาศัยความเข้าใจโครงสร้างภาษาอย่างถูกต้อง รู้ศัพท์ สำนวน รูปแบบ ประโยค ไวยากรณ์ และเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนและหัดเขียนอยู่เสมอ นอกจากนั้นการเขียนและการอ่านเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกัน หากผู้เรียนมีประสบการณ์ในการอ่านมาก ก็จะได้เห็นรูปแบบวิธีเขียน แนวคิดในการสื่อสารของผู้เขียน ซึ่งจะช่วยทำให้มีแบบอย่างสำหรับการเขียน สำหรับตนเองมากขึ้นด้วย

สำหรับนักศึกษานั้นควรจะหาโอกาสไปเข้ารับการสอนเสริม เพื่อที่จะมีโอกาสได้สนทนา ซักถามอาจารย์ผู้สอนโดยตรง อย่างไรก็ตามการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่มีชั้นเรียนปกตินั้น นักศึกษาต้องดูแลตนเองให้มีวินัยในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนวิชาภาษานั้นจะต้องฝึกฝนเป็นประจำ สม่ำเสมอ หากไม่ท้อถอยในการเรียนเสียก่อน ความสำเร็จในการศึกษาต้องเป็นของนักศึกษาอย่างแน่นอน 

เรียนภาษาอังกฤษนานไหมกว่าจะเก่งได้ ควรจะเริ่มเรียนยังไงดี ครับ…วันนี้จะมานำเสนอการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง จากหลากหลายวิธีเพื่อเป็นการฝึกให้ครบ 4 ทักษะทั้ง ฟัง พูด อ่าน และเขียนนะครับ กล้ารับประกันได้เลยว่าเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง การฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองก็เก่งได้ ไม่แพ้การเข้าคอร์สเรียนตามสำนักต่างๆครับ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจธรรมชาติของภาษา และการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือว่าภาษาไหนๆก็ตามว่า.. ธรรมชาติของภาษาคือ ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมภาษาใดตั้งแต่เกิด เราก็จะซึมซับ และเกิดเรียนรู้ภาษานั้นๆไปโดยธรรมชาติแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจ และสื่อสารเป็นภาษานั้นๆได้อัตโนมัติ

และจะสังเกตุได้ว่า เด็กๆจะเริ่มเรียนภาษาโดยการฟังก่อน ฟังมากๆ แล้วหัดออกเสียงตามเป็นคำๆ ต่อมาค่อยเป็นประโยคยาวๆ แล้วค่อยตามมาด้วยการหัดอ่าน และการหัดเขียนในที่สุด นี่คือการเรียนที่ครบทั้ง 4 ทักษะในการเรียนรู้ภาษาของคนเรา

แต่เนื่องจากว่าเราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของภาษาอังกฤษตั้งแต่เกิด ดังนั้นเราจะมาเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อเลียนแบบวิธีธรรมชาติกันนะครับ รับรองว่าเก่งได้เหมือนกัน ส่วนสำเนียงไม่คล้ายก็ไม่เป็นไร สื่อสารแล้วรู้เรื่องก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารแล้ว

9 วิธีการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง

การเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกลิ้งภูเขาขึ้นครกหรอกครับ (อันนี้ยากกว่ากลิงครกขึ้นภูเขา) แต่เหตุที่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากผู้เรียนคิดว่ามันยาก คำว่ายากเลยดูเป็นเรื่องหินไปเลย และทำให้ดูเหมือนว่าภาษาอังกฤษมันยากเกินไป ซึงจริงๆมันไม่ได้ยากถึงขนาดนั้น แต่การเรียนภาษามันต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเริ่มเห็นผล

เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ไปดูวิธีการฝึกภาษาอังกฤษให้ครบทั้งสี่ทักษะ ทั้ง ฟัง พูด อ่าน และเขียนกันเลยละกัน

1. เรียนภาษาอังกฤษด้วยการฟังเสียงจากหนัง ฟังเพลง ฟังข่าว

การฟังเสียงจากหนัง ก็คือดูหนังนั่นแหละ การฟังเพลง และการฟังข่าว เป็นการฝึกทักษะการฟังแบบเต็มๆเลย และต้องฟังเยอะๆด้วยนะ ถามว่าทำไมต้องฟัง คำตอบก็คือ เพื่อให้หูของเราคุ้นกับสำเนียงของเจ้าของภาษา จะได้ฟังออกว่าเขาพูดว่าอะไรนั่นเอง จะให้ดีต้องฟังจากหลายๆสำเนียง เช่น อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลย อินเดีย แอฟริกาใต้ เป็นต้น

อันนี้เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า บางทีเราฟังเขาไม่ออกว่าเขาพูดว่าอะไร แต่พอเห็นสคริปต์เท่านั้นแหละ อ๋อเลย เขาออกเสียงว่าอย่างนี้เองเหรอไอคำเนี้ย

2.การฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยการร้องเพลง

ข้อนี้จะเป็นการทักษะการพูดแบบเต็มๆเหมือนกัน วิธีการก็คือต่อเนื่องมาจากการฟังนั่นเอง  การร้องเพลงภาษาอังกฤษจะช่วยในเรื่องของการหัดออกเสียง ในแบบเพลินๆโดยที่เราไม่รู้ตัวว่านั่นคือการหัดพูดภาษาอังกฤษ แต่ในเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษจากเพลง บางเพลงจะเป็นสำนวนเพลงที่ไม่มีใครเอามาใช้พูดในชีวิตประจำวันก็มี บางเพลงก็เป็นภาษาที่ไม่สุภาพ ซึ่งต้องระวังนิดหนึ่ง แต่การร้องเพลงจะช่วยในเรื่องของการออกเสียง โดยเฉพาะการเชื่อมเสียงระหว่างคำ อันนี้ดีนักแล

3. การฝึกพูดภาษาอังกฤษตามหนัง บทสนทนา ข่าว

การพูดตามบทสนทนา (dialog) หรือหนัง ถ้าจะให้ดีให้ตัดเป็นท่อนสั้นๆ เช่นถ้าบทสนทนาก็เอาสี่บรรทัด เสต็ปที่หนึ่งฟังก่อนว่าเขาพูดว่าอย่างไร โดยยังไม่ต้องดูสคริปต์  ให้เขาพูดจบประโยคเราก็หยุดไว้ชั่วคราว แล้วพูดตาม แล้วค่อยๆฝึกจนเราสามารถพูดได้พร้อมกันกับบทสนทนา อันนี้จะเป็นการช่วยในเรื่องของการหัดพูดโต้ตอบ หรือการพูดในชีวิตประจำวัน เพราะบทสนทามันก็คือภาษาอังกฤษในชีวิตประวันนั่นเอง แต่ให้เลือกในระดับที่เหมาะกับเรา

ส่วนการพูดตามหนัง และข่าว แนะนำให้ฝึกพูดตาม ที่เขาเรียกกันว่า Shadowing Technique นั่นคือ เขาพูดอะไรมา มีสีหน้าที่ทางเป็นอย่างไร สำเนียงแบบไหน ให้เราให้ทำตามให้ครบเลย พูดง่ายก็คือ การก็อบปี้นั่นเอง

4. การฝึกอ่านภาษาอังกฤษจากบทอ่าน นิทาน บทความ แมกกาซีน etc.

การฝึกอ่านภาษาอังกฤษจากบทอ่านสำหรับเด็ก หรือนิทานเด็กๆ ขอแนะนำว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่ยังไม่เก่งในเรื่องโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ เพราะบทอ่านหรือนิทานเหล่านี้ไม่ได้ใช้โครงสร้างทางภาษาที่ซับซ้อน จะเป็นประโยค ประธาน กริยา กรรม ทำมะด๊า ทำมะดา คำไหนแปลไม่ออกก็อาศัยเปิดดิกชันนารีหน่อยก็ได้แล้ว

ถ้าเริ่มปีกกล้าขาแข็งก็ค่อยขยับขึ้นไปอ่านพวกบทความ แม็กกาซีน ข่าว ที่มีโครงสร้างทางภาษาที่ซับซ้อนกว่า และใช้คำซับที่ยากถึงยากมากๆ ขึ้นหรือกับเนื้อหาของสาขาวิชา ซึ่งจะมีพวก Technical Terms (ศัพท์เทคนิค) เข้ามาเสริมในประโยค ซึ่งผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงอ่านแล้วงงๆกับคำศัพท์ว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่

5. การฝึกอ่านภาษาอังกฤษจากหนังสือ Graded Readers

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า Graded Readers คือหนังสือที่เขาแบ่งออกความยากง่ายออกเป็นระดับ มีตั้งแต่ระดับ beginner จน advance นั่นแหละ  เช่น ระดับเบื้องต้น มีคำศัพท์ในแวดวง 150 คำ เหมาะกับระดับเบสิก เป็นต้น ถ้าเราลองหยิบดูหนังสือประเภทนี้ แล้วปรากฏว่ามันยากมาก อ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลย ก็ให้เราลดระดับลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่พออ่านรู้เรื่อง แปลไม่ออกเลยสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็ค่อยพึ่งดิกชันนารีเป็นตัวช่วยต่อไป

ุ6. การฝึกเขียนไดอารี่ภาษาอังกฤษ

การเขียนไดอารี่ภาษาอังกฤษ เป็นอะไรที่ง๊ายง่าย เขียนเอง ตรวจเอง ไม่ต้องส่งคุณครู ผิดๆถูกๆในเบื้องต้น แต่หลังจากเขียนได้สักพักเราก็จะเริ่มชิน เพราะกิจวัตรบางอย่างของเรามันก็เดิมๆ ดังนี้มันก็คือประโยคเดิมๆนั่นแหละ

การเขียนได้อารี่เป็นการฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง อีกแนวทางหนึ่งในการดึงเอาภาษาที่เรามีมาใช้ ผ่านการเขียน ซึ่งถ้าเราสามารถเขียนได้ มันก็แน่นอนว่าเราก็สามารถพูดได้ในสิ่งที่เราเขียน เพราะมันออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่การเขียนในเบื้องต้น แนะนำว่าให้ลองเช็คประโยคที่เราเขียนกับกูเกิ้ลนะครับ ว่ามีคนเขาเขียนเหมือนเราไหม ถ้าค้นแล้วของเรามันไม่เหมือนใครเลย มันหมายถึงเราอาจจะเขียนผิดก็ได้

ุ7. การฝึกเขียนโต้ตอบ หรือถามบนโลกออนไลน์

บนโลกออนไลน์เป็นแหล่งที่เราสามารถพูดคุยกับคนอื่นๆได้ สามารถถามปัญหากับคนอื่นๆได้ สามารถขอคำแนะได้ อย่าง youtube กับ facebook เนี่ย ถ้าเป็นคลิปภาษาอังกฤษ หรือ post ภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าคอมเมนต์มันก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน เราลองไปดูสิว่าเขาเขียนติชมกันอย่างไร คำไหนเป็นคำชม คำไหนเขาตำหนิ เราก็เรียนรู้จากคอมเมนต์นั้นๆได้

และจะมีบอร์ดพูดคุยบนโลกออนไลน์ ถามตอบภาษาอังกฤษก็มี ถ้าเป็น pantip ก็จะอยู่ในหมวดภาษาอังกฤษ ถ้าเราถามอะไรที่มันไม่หนักหนาสาหัสนัก ก็จะมีคนตอบคำถาม หรือให้ความช่วยเหลือเรา

แต่ถ้าเราเก่งภาษาหน่อยหนึ่งก็เข้าบอร์ดที่เป็นภาษาอังกฤษไปเลย แค่พิมพ์คำว่า Learn English Forum ก็จะมีหลายเว็บที่ เราสามารถที่จะพูดคุยกับเขาได้ ซึ่งเป็นวิธีเรียนภาษาอังกฤษอีกวิธีที่ค่อนข้างดีเลย บางเว็บถ้าเราใช้ภาษาไม่ถูกต้อง แอดมินเขาก็จะแก้เป็นคำพูดที่ถูกต้องให้ จะทำให้เรารู้ว่าเราผิดตรงไหน

8. เรียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษวันละ 5-10 คำ

การเรียนรู้คำศัพท์ ถือว่าเป็นการเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานด้วยตนเองที่ยอดเยี่ยมอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มพูนภาษาให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆแบบไร้ขีดจำกัด เป็นวิธีเก่งภาษาอังกฤษที่ง่ายสุด แต่เทพสุดๆเช่นกัน

แต่การเรียนคำศัพท์วันละ 5 คำไม่ใช่แบบนี้นะครับ

cat, dog, pig, cow, bird, tiger

อันนี้เป็นการเรียนแบบคำๆ ซึ่งไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่หรอก วิธีการก็คือ ให้เขียนเป็นคำๆ แล้วมีประโยคตัวอย่างด้วย เช่น

  • cat
    –  I have a cat.
  • dog
    – My dog is white.

ให้เขียนคำศัพท์บรรทัดบน เขียนประโยคบรรทัดล่าง พอเขียนเสร็จแล้วก็ให้ปิดประโยคไว้ ดูแค่คำศัพท์พอ แต่ให้อ่านประโยคที่ปิดไว้ด้วย แบบนี้เราก็จะได้ฝึกทักษะทั้งการอ่าน การเขียน และการพูดไปด้วย เกือบครบทั้งสี่ทักษะเลย

ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆเก่งแบบไม่รู้ตัว ถ้าไมรู้ว่าจะเขียนว่าอย่างไรก็หาประโยคจาก google ก็ได้ มีเยอะแยะ

9. เรียนหลักแกรมม่าพื้นฐาน ปูพื้นฐานเพื่อการอ่านภาษาอังกฤษ

เรื่องหลักแกรมม่า หรือไวยากรณ์เป็นสิ่งที่เราเว้นไม่ได้เลยถ้าเราอยากจะเก่งอังกฤษ เพราะเราจะไม่เข้าใจประโยคที่ซับซ้อนได้ ถ้าเราไม่เข้าใจหลักภาษาของเขา เช่น

I am walking.

เราแปลได้ว่ามันคือ ฉันกำลังเดิน เพราะเรารู้จักหน้าตาโครงสร้างประโยคนี้ แต่ถ้าไปเจอประโยคที่ซับซ้อนกว่านี้เราก็จะลำบากในการอ่านบทความ หรือเนื้อหาภาษาอังกฤษ

แล้วเราจะเรียนแกรมม่าอะไรบ้าง หลักๆเลย พยายามทำความเข้าใจเรื่อง Tense ให้ได้ เพราะมันคือโครงสร้างประโยคหลักๆในภาษาอังกฤษ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นแค่ส่วนแยกย่อยออกไป

→ แกรมม่าภาษาอังกฤษ

เป็นอย่างไรก็บ้างครับสำหรับวิธีการเรียนอังกฤษ การฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง วิธีต่างๆที่นำเสนอเป็นวิธีที่ผู้เขียนได้ทำมานะครับ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ เลยอยากแนะนำให้ผู้ที่อยากเก่งภาษาได้นำไปใช้ แต่จงจำไว้อย่างหนึ่งว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างให้เสร็จในวันเดียวฉันใด การเรียนอังกฤษเพื่อจะให้เก่งอัฉริยะในระยะเวลาอันสั้นย่อมเป็นไปได้ยากฉันนั้น

แต่เมื่อใดที่เราเริ่มก้าวแรก ระยะทางหมึ่นลี้ก็ไม่ใช่หนทางที่ยาวไกลเกินกว่าจะไปถึง ถ้าอยากเก่งจริงๆต้องขยัน ฝึก และ ฝึกเท่านั้น

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก